วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

การเมืองเรื่องใกล้ตัวกับ "บก.ลายจุด"


โอกาสที่ผมจะได้นั่งติดกับบุคคลที่ปรากฏตามหน้าสื่ออย่างใกล้ชิดแบบนี้คงหาได้ไม่ง่ายนัก วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๔ คงเป็นอีกหนึ่งวันที่ผมต้องบันทึกไว้ในความทรงจำ เนื่องด้วยในวันดังกล่าวผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเคลื่อนไหวคนดังคนหนึ่ง เขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในฐานะนักเคลื่อนไหวที่ไม่แสวงผลกำไร (NGOs) เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา และล่าสุดเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้เรียกตัวเองว่า "แกนนอน"; ครับ ผมกำลังพูดถึง "บก.ลายจุด" คุณสมบัติ บุญงามอนงค์
คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือที่หลายท่านคุ้นเคยกันในชื่อ "บก.ลายจุด" เป็นนักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ในอดีตเขาเคยก่อตั้งองค์กรช่วยเหลือสังคมหลายต่อหลายองค์กร จนทำให้ได้รับรางวัลจากองค์กรอโศก (Ashoka Fellows Award) ในฐานะบุคคลที่มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การศึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งยังได้รับรางวัลเยาวชนนักพัฒนาดีเด่น จากสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมไปถึงรางวัลนวัตกรรมดีเด่น จากธนาคารโลกจากการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ชุมชน "บ้านนอกทีวี"
นอกจากบทบาทในฐานะนักเคลื่อนไหวทางสังคมแล้ว บทบาทที่ทำให้ทุกคนรู้จัก "บก.ลายจุด" มากยิ่งขึ้น คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการออกมาต่อต้านรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, การรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๕๐, การรณรงค์ให้คนเสื้อแดงมาผูกผ้าแดงที่บริเวณป้ายสี่แยกราชประสงค์ ตลอดจนการรณรงค์ให้ประชาชนคนไทย "โหวตเยส" แทนการ "โหวตโน" ในการเลือกตั้งทั่วไปปี ๒๕๕๔
มาถึงตรงนี้หลายคนคงตั้งคำถามว่าเหตุใดคุณสมบัติจึงใช้ชื่อแฝงว่า "บก.ลายจุด" คุณสมบัติก็ได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่า เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เป็นช่วงที่อินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายในประเทศไทย คุณสมบัติก็ได้ก่อตั้งเว็บไซต์ขึ้นมา และในฐานะเว็บมาสเตอร์ เขาก็มองว่ามันมีสถานะที่คล้ายคลึงกับการเป็นบรรณาธิการ กอปรกับตอนนั้นมีหนังเรื่อง "101 Dalmatians" เขาจึงได้ตั้งชื่อแฝงขึ้นมาเล่นๆไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากมาย เพราะคิดแค่เพียงว่าจะให้ใช้ชื่อสมบัติ บุญงามอนงค์ลงท้ายบทความที่เขาเขียนก็คงจะไม่เหมาะ จากนั้นชื่อ "บก.ลายจุด" ก็ถูกทำให้เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงคุณสมบัติ บุญงามอนงค์
หลังจากที่คลายความสงสัยในส่วนของที่มาของนามแฝงไปเรียบร้อย ผมก็ไม่รีรอถามถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้บก.ลายจุดออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในกรณีต่างๆ คำตอบของบก.ก็พวยพุ่งออกมาทันทีราวกับรู้คำถามล่วงหน้า “คือผมเป็นเอ็นจีโอ เวลาเห็นความไม่ถูกต้องในสังคมเกิดขึ้น ผมไม่เคยที่จะลังเลในการออกไปทวงถามหาความถูกต้องเลยสักครั้ง บทบาทของเอ็นจีโอมันก็เป็นอะไรที่แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องทำเพื่อสังคม แรงบันดาลใจในการออกไปเรียกร้องของผมคือความยุติธรรมที่ผมปรารถนาให้เกิด”
สิ่งที่ผมสงสัยอีกประการหนึ่งคือทำไมบก.ลายจุดถึงไม่ลงเล่นการเมืองแบบเต็มตัว บก.ก็ได้อธิบายให้ผมฟังพอเข้าใจว่า สาเหตุที่บก.ไม่ลงสู่สนามการเมืองเป็นเพราะบก.ต้องการที่จะทำให้การเมืองภาคประชาชนนั้นมีบทบาทมากยิ่งขึ้น เนื่องจากตามทัศนะส่วนตัวของบก. บก.มองว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแค่เลือกผู้แทนไปเป็นปากเป็นเสียงแทนตัวเองแล้วก็จบไป แต่การปกครองในลักษณะดังกล่าวประชาชนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย หากปล่อยให้การเมืองอยู่แค่ในสภา นักการเมืองก็จะมีอำนาจมากกว่าประชาชนทั่วไป แล้วอีกประการหนึ่งหากบก.เข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัว ก็จะทำให้ผู้ที่จับจ้องว่าบก.ออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ทำไปเพื่ออะไรตีความทึกทักเอาเองว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่บก.ทำเพื่อเป็นการปูทางให้ตัวเองเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ เพราะทุกวันนี้บก.ก็ต้องคอยตอบคำถามของตัวเองเหมือนกันว่าออกมาทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบก.ได้ทิ้งท้ายในหัวข้อนี้เอาไว้ว่า อีก ๑๐ ปีค่อยมาคุยกัน เพราะตอนนี้ ในสถานการณ์แบบนี้บก.ยังไม่มีความคิดที่จะเข้าสู่อาชีพนักการเมือง
ความคับข้องใจของผมก็ถูกคลายออกทั้งหมดแล้ว ผมจึงเริ่มประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน โดยเริ่มที่ความเห็นของคุณสมบัติว่าเหตุใดคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจึงได้ก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย คุณสมบัติก็ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยได้มาจากคน ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มคนเสื้อแดงและคนที่นิยมในตัวคุณทักษิณ กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ชื่นชอบในผลงานของพรรคไทยรักไทย และในกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มคนที่ตั้งความหวังไว้กับนโยบายของพรรคเพื่อไทย โดยรวมคุณสมบัติมองว่าเป็นเพราะนิสัยของคนไทยที่อยากลองของใหม่ด้วยส่วนหนึ่ง
ในส่วนของความเห็นของบก.สมบัติจากการที่คณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ๑ ปราศจากรัฐมนตรีเสื้อแดง บก.สมบัติบอกว่า ในส่วนตัวเขาไม่ได้รู้สึกอะไร มองว่าเป็นเรื่องที่สมควรเพราะรัฐบาลพยายามจะลดแรงเสียดทานจากปัจจัยภายนอก เพราะดูจากชื่อชั้นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ก็มองว่าพอไปได้ ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่สักเท่าไหร่ อีกทั้งรัฐบาลจะต้องมีความเป็นมืออาชีพมากพอ เรื่องคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นรัฐมนตรีจึงไม่ควรนำออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง เพราะรัฐบาลมีหน้าที่บริหารประเทศ
เมื่อถามถึงสถานการณ์ทั่วไปของการเมืองไทยในปัจจุบัน บก.ลายจุดมองว่า ทุกวันนี้ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงไม่ยุติ สถานการณ์ตอนนี้เป็นเพียงช่วงเวลาที่ต่างฝ่ายต่างถอยไปพักเหนื่อย ผมจึงถามแทนคนไทยที่เบื่อหน่ายการเมืองว่าเมื่อไหร่ความปรองดองระหว่างขั้วสีทั้งสองจะบังเกิด บก.ลายจุดก็ได้ตอบคำถามของผมว่า "การปรองดองถ้าทำแล้วความขัดแย้งหายผมก็ไม่เอาด้วย การทะเลาะกันผมมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะนั่นแสดงว่าประชาชนมีแนวคิดทางการเมืองและพร้อมที่จะแสดงออก ในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีครั้งไหนที่จะมีเสียงแห่งการทะเลาะกันดังขนาดนี้ แต่ถ้าปรองดองแล้วความขัดแย้งไม่หายคือยังทะเลาะกันต่อในแนวคิดได้ ผมก็พร้อมสนับสนุน เพราะส่วนตัวผมก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการป่าเถื่อนอยู่แล้ว ผมเชื่อในสันติวิธี ทะเลาะกันแบบสันติ เถียงกันแบบสันติ ไม่ต้องถึงขนาดฆ่ากันแกงกัน แต่ถ้าปรองดองแล้วบอกให้ผมเลิกทะเลาะมันก็เหมือนกับการเอาปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม ปัญหามันไม่ได้หายไปไหน ถ้ามีคนไปสะดุดมันก็ออกมาอีก แล้วอย่างนี้จะต้องปรองดองอีกกี่ครั้ง?"

ผมจึงถามถึงกระแสข่าวที่ระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯที่มีต่อคุณทักษิณเริ่มแปลกไป บก.สมบัติบอกว่าโดยส่วนตัวไม่เชื่อในเรื่องนี้ มองว่ากลุ่มพันธมิตรฯไม่มีทางญาติดีกับพ.ต.ท.ทักษิณแน่ แต่ถ้าหากพูดถึงคุณสนธิ ลิ้มทองกุลก็มองว่ามีแนวโน้ม เพราะคุณสนธิแปลกตั้งแต่ต้นแล้ว ส่วนในเรื่องของแนวทางการรณรงค์ให้มีการ "โหวตโน" ในช่วงเลือกตั้งของกลุ่มพันธมิตรฯนั้น เป็นการรณรงค์ที่ถือเป็นการเตะตัดขาพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อพรรคเพื่อไทย ในเรื่องนี้บก.ก็มองว่าแปลกพอสมควร
ในฐานะที่บก.ลายจุดเคยอยู่ในวิชาชีพสื่อสารมวลชน ผมจึงได้ถามถึงความคิดเห็นของบก.ต่อกรณีที่ทางคนเสื้อแดง(บางคน) ได้กระทำการคุกคามสื่อโดยการส่งฟอร์เวิร์ดเมลข่มขู่นักข่าว ซึ่งในเรื่องนี้บก.ได้แสดงทัศนะเอาไว้ว่า “สื่อถือเป็นฐานันดรหนึ่งในสังคม ผมเห็นว่าการเล่นกับสื่อในลักษณะนี้ไม่ส่งผลดีต่อใครเลย สิ่งที่คนเสื้อแดงที่ไม่พอใจกับนักข่าวคนนั้นควรทำคือการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ควรไปกดดันในลักษณะนี้ ผมมองว่าเว่อร์เกินไป แต่ในเรื่องนี้ผมก็ขอชมคุณยิ่งลักษณ์นะ เพราะถ้าเป็นนายกฯคนก่อนๆเขาคงตอบโต้นักข่าวไปแล้ว แต่กับคุณยิ่งลักษณ์เธอกลับแค่เดินหนี”
ผมได้ถามถึงความเห็นของบก.สมบัติต่อกรณีที่ดูเหมือนว่าทางรัฐบาลจะไม่ทำการโยกย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) บก.สมบัติได้อธิบายเรื่องนี้ให้ฟังว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของเกมการเมืองที่เราจะมองเพียงชั้นเดียวไม่ได้ พื้นเดิมนายธาริตเป็นคนที่ไม่มีจุดยืน ตอนแรกที่ดำรงตำแหน่งเป็นเพียงแค่รองอธิบดี นายธาริตเคยไปพูดเรื่องมาตรา ๑๑๒ ว่าเป็นกฎหมายที่ควรแก้ไข แต่พอขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ นายธาริตกลับมีมุมมองที่เปลี่ยนไป พร้อมกันนั้นยังได้ทำงานแบบถวายหัวต่ออดีตนายกฯอภิสิทธิ์ แต่เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนขั้ว นายธาริตกลับไปสวามิภักดิ์ต่อพรรคเพื่อไทย โดยได้เดินทางไปที่ที่ทำการพรรคเพื่อเจรจาขออยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยส่วนตัวบก.มองว่าเหตุผลที่ทางพรรคเพื่อไทยยอมให้นายธาริตอยู่ในตำแหน่งเป็นเพราะนายธาริตเป็นหนึ่งในคณะทำงาน ศอฉ. เรื่องคดีความหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าว นายธาริตเป็นอีกหนึ่งคนที่รู้ดี ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยคงเห็นความสำคัญจุดนี้ จึงได้ยอมให้นายธาริตอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จะนำข้อมูลต่างๆย้อนกลับมาเล่นงานพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อผมให้บก.ลายจุดคาดการณ์อายุของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯหญิงคนแรกของไทย บก.ก็ได้วิเคราะห์เอาไว้ที่ไม่เกิน ๒ ปี ทั้งนี้เพราะปัจจัยหลายๆอย่างที่จะส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้จำเป็นต้องยุบสภา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งธงตั้งแต่แรกของทางพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากแก้ไขสำเร็จก็เป็นธรรมเนียมที่รัฐบาลจะต้องยุบสภา อีกทั้งยังมีประเด็นที่ทางบ้านเลขที่ ๑๑๑ จะกลับมามีสิทธิทางการเมืองอีกครั้งในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ซึ่งในส่วนนี้ทางบก.ลายจุดเชื่อเหลือเกินว่าจะต้องเกิดแรงเสียดทานจากบ้านเลขที่ ๑๑๑ แน่นอน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรบก.มองว่าการยุบสภาบ่อยๆนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้อำนาจการตัดสินใจกลับมาอยู่ในมือของประชาชนอีกครั้ง
พูดถึงเป้าหมายสูงสุดในการเคลื่อนไหวทางการเมือง บก.สมบัติบอกว่า อยากเห็นการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง ไม่ใช่นักการเมืองเข้มแข็ง เพราะบก.เชื่อว่าพลังของประชาชนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกสิ่ง พร้อมกันนั้นบก.ก็ได้ฝากถึงรัฐบาลชุดนี้ไว้ว่า "อย่าตกหลุม อย่าผูกขาด อยากให้รัฐบาลชวนประชาชนมาช่วยกันบริหารประเทศ ไม่ใช่คิดแค่จะผูกขาดอำนาจไว้กับตัวเอง"
และสุดท้าย "บก.ลายจุด" สมบัติ บุญงามอนงค์ ฝากให้ประชาชนคนไทยที่เบื่อหน่ายการเมืองเลือกบทบาทของตัวเองว่าอยากจะเป็นอะไรระหว่าง "ผู้กระทำ" ที่คอยกำหนดแนวทาง มีส่วนร่วมและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ กับ "ผู้ถูกกระทำ" ที่คอยแต่จะรับชะตากรรมที่เกิดจากการเมือง เพราะไม่ว่าจะเบื่อหน่ายการเมืองขนาดไหนก็ไม่มีทางหนีคำว่าการเมืองไปได้ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเล็กหรือว่าใหญ่ล้วนเกิดขึ้นและดับไปเพราะการเมือง


เรื่อง :: มาร์ก สะกดด้วยกอไก่

ภาพ :: ChayaNIDD


หมายเหตุ : บทความนี้ถูกตัดทอนเนื้อหาจากการสัมภาษณ์จริงไปอยู่มาก ด้วยเนื้อหาประเด็นที่ถูกกำหนดมา ซึ่งหากกระผมมีเวลาจะนำเนื้อหาทั้งหมดจากการสัมภาษณ์มาเผยแพร่ให้ครบถ้วนกระบวนความอีกครั้งในหัวข้อประเด็นอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น