วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คำให้การของสื่อมวลชนคนหนึ่งถึงเหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษา 6 ตุลา 2519

"วิโรจน์ เอ็ม. 16" หรือนามจริง วิโรจน์ มุทิตานนท์ หัวหน้าฝ่ายภาพของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ย้อนความหลังครั้งที่เขามีวัยเพียง 20 ปี เป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับนี้ และอยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่บริเวณวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยตลอด ครั้งนั้นเขาบันทึกภาพเหตุการณ์ทุกระยะไว้ถึง 300 ม้วน สำหรับเขา มันเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจและลืมไม่ลงจนชั่วชีวิต

 "ช่วงเย็นของวันที่ 5 ตุลา หนังสือพิมพ์ดาวสยามลงรูปที่นักศึกษาเล่นละครโดยกล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีพาดหัวที่รุนแรงพอสมควร ในขณะเดียวกัน นอกจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้แล้ว ยังมีวิทยุของทหารออกมาโจมตีนักศึกษาในเรื่องนี้ด้วย มีการแจกรูปโรเนียวที่หน้าธรรมศาสตร์ ผมก็ยังได้รับ คิดว่ากลายเป็นเรื่องใหญ่แล้ว ผมดูแล้วเขาไม่ได้จงใจ แต่ความละม้ายก็พอมี ส่วนจะว่าเป็นการแต่งฟิล์มคงไม่ใช่ มีการแต่งหน้า แต่ไม่ได้ต้องการแต่งให้เหมือนองค์รัชทายาท ต้องการแต่งให้เหมือนคนถูกซ้อมมากกว่า ฟิล์มมันกระดำกระด่าง แต่ดูแล้วไม่ใช่ความจงใจของนักศึกษาที่จะมาทำแบบนี้ ผมเชื่อว่ามีการเตรียมการโดยใครบางคน ช่วงนั้นถึงไม่มีการกระตุ้นเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็ต้องมีเหตุอะไรสักอย่างเกิดขึ้นจนได้"


"พอละครแสดงเสร็จปั๊บ รายการวิทยุก็เปิดเพลงหนักแผ่นดิน มีการปล่อยข่าว แต่ช่วงที่ผมเห็นสภาพจริง ๆ แล้ว มันเริ่มตั้งแต่ตอนเย็นวันที่ 5 เริ่มมีลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง ตำรวจ มาอยู่ที่ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านท่าพระจันทร์ ยิ่งดึกคนก็เริ่มมากขึ้น เพราะวิทยุถ่ายก็ทอดตลอดเวลา ตอนนั้นผมอยู่หน้าธรรมศาสตร์ ด้านสนามหลวง มีวิทยุทรานซิสเตอร์ฟัง คลื่นคนก็เริ่มมาเรื่อย ๆ และแบ่งเป็นสองฝ่าย เท่าที่ผมสังเกตเห็น ก่อนห้าทุ่มจะมีตำรวจชุดหนึ่งมาจากค่ายนเรศวร หัวหิน แล้วมีตำรวจใส่ชุดสีกากีอยู่ด้านหน้า ส่วนชุดหัวหินเข้าทางพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ด้านข้าง ชุดนี้หนักมาก เป็นตัวยิงเข้าไป ตอนนั้นกระทิงแดงก็มีการโห่ฮา ร้องด่า บรรยากาศเริ่มรุนแรง ตอนแรก ๆ ก็ใช้ระเบิดขวด รู้สึกว่าข้างในเริ่มเคลื่อนไหวแล้ว ตอนนั้นผมออกมาอยู่ข้างนอก เพราะเริ่มดูแล้วว่าคนที่จะก่อเหตุจริง ๆ และมีระเบิด ไม่ใช่นักศึกษาที่อยู่ภายในแต่เป็นพวกกลุ่มรักชาติด้านนอก"


วิโรจน์ได้เห็นเหตุการณ์ที่หน้าธรรมศาสตร์โดยตลอด และยืนยันได้ว่ามันไม่ใช่สงคราม แต่คือการเข่นฆ่าคนที่ไร้ทางต่อสู้

"ผมยืนยันได้ว่านักศึกษาภายในไม่มีอาวุธ เพราะผมไม่เห็น ไม่มีการยิงขึ้นมาแม้แต่นัดเดียว ที่ผมยืนยันได้เพราะว่าคนที่อยู่ด้านนอกเริ่มก่อกวน มีการขว้างระเบิดบ้าง ในขณะที่นิสิตนักศึกษาไม่ได้ทำอะไรเลย สถานการณ์เริ่มดุเดือดขึ้นตั้งแต่ตี 1 ตอนนั้นผมก็ยังมองเหตุการณ์อะไรไม่ออก ประมาณตีสี่เริ่มมีเสียงปืนเป็นชุด ๆ มาจากข้างในธรรมศาสตร์ด้านพิพิธภัณฑ์ พอเสียงปืนดังปั๊บ พวกที่อยู่ทางประตูหน้าด้านสนามหลวงก็ยิงบ้าง ก่อนฟ้าสาง มีระเบิดลูกหนึ่งยิงไปทางสนามฟุตบอล ตอนนั้นผมอยู่ข้างนอก เพราะเริ่มดูแล้วว่าคนที่จะก่อเหตุจริง ๆ และมีระเบิด ไม่ใช่นักศึกษาที่อยู่ภายในแต่เป็นพวกกลุ่มรักชาติด้านนอก"


วิโรจน์ได้เห็นเหตุการณ์ที่หน้าธรรมศาสตร์โดยตลอด และยืนยันได้ว่ามันไม่ใช่สงคราม แต่คือการเข่นฆ่าคนที่ไร้ทางต่อสู้

"ผมยืนยันได้ว่านักศึกษาภายในไม่มีอาวุธ เพราะผมไม่เห็น ไม่มีการยิงขึ้นมาแม้แต่นัดเดียว ที่ผมยืนยันได้เพราะว่าคนที่อยู่ด้านนอกเริ่มก่อกวน มีการขว้างระเบิดบ้าง ในขณะที่นิสิตนักศึกษาไม่ได้ทำอะไรเลย สถานการณ์เริ่มดุเดือดขึ้นตั้งแต่ตี 1 ตอนนั้นผมก็ยังมองเหตุการณ์อะไรไม่ออก ประมาณตีสี่เริ่มมีเสียงปืนเป็นชุด ๆ มาจากข้างในธรรมศาสตร์ด้านพิพิธภัณฑ์ พอเสียงปืนดังปั๊บ พวกที่อยู่ทางประตูหน้าด้านสนามหลวงก็ยิงบ้าง ก่อนฟ้าสาง มีระเบิดลูกหนึ่งยิงไปทางสนามฟุตบอล ตอนนั้นผมอยู่ข้างนอก พอระเบิดลงเสียงร้องเพลงก็เงียบ ระเบิดยิงมาจากด้านไหนไม่รู้ ตอนนั้นก็เริ่มมีการยิงตลอด พอด้านข้าง (บริเวณพิพิธภัณฑ์) ยิงออกมา ข้างนอกก็นึกว่าข้างในยิงสวนออกมา คนที่ล้มก่อนคือหน่วยรักษาความปลอดภัยของนักศึกษา มีทั้งหญิงและชาย ล้มทีละคนสองคน ด้านหน้าก็เริ่มฮือแล้ว ตอนแรกเหมือนกับจะเข้าไปช่วย แต่เท่าที่ผมเห็นมันไม่ใช่ บางคนยังไม่ตาย ก็มีคนไปลากออกมาตีคนละตุ้บสองตุ้บ เริ่มยิงกันไปพักหนึ่ง พอเสียงเงียบที หน่วยรักชาติก็วิ่งไปเอาตัวมา ทั้งถีบทั้งเตะ พอฟ้าเริ่มสางเริ่มเห็นตัว คราวนี้ก็เริ่มหนักขึ้น เสียงปืนดังถี่ขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกว่านักศึกษาที่อยู่ในสนามฟุตบอลจะวิ่งขึ้นบริเวณตึก พอขึ้นเสร็จเขาจะเอาเก้าอี้มาขวาง"


"นักศึกษาบางคนถูกลากตัวออกมาทุบ ออกมาแขวนคอ ตอนนั้นผมก็งงเหมือนกัน ไม่มีใครห้าม มันบอกไม่ถูก ตอนนั้นเศร้าใจแล้ว ถ่ายรูปไปก็น้ำตาคลอ เหมือนเหตุการณ์จะระเบิด แต่ใจเราก็ยังบอกว่าเราเป็นช่างภาพ กฎของช่างภาพมีอยู่อย่างหนึ่ง คือ จะไม่ใส่ใจกับเหตุเฉพาะหน้า แต่นี่มันเป็นเหตุเฉพาะหน้าที่เรารับไม่ได้ ผมยืนอยู่ด้านฝ่ายที่ยิงคือตำรวจ ฝ่ายนี้ไม่เห็นมีใครล้มใครเจ็บ ลักษณะการยิงมันไม่ใช่เป็นการต่อสู้ ตอนเริ่มสว่างนี่เหมือนการปิดประตูตีแมวแล้ว ทำได้ยังไง ตอนนั้นผมเริ่มร้องไห้จนตาพร่าไปหมด สมัยก่อนถ่ายรูปไม่ได้ใช้เลนส์อัตโนมัติ ถ่ายรูปไปด้วยร้องไห้ไปด้วยหาโฟกัสยากมาก"


เสียงปืนดังอยู่โดยตลอด จากที่แรก ๆ ใช้ปืนยาว ปืนสั้นยิง มาหลัง ๆ มีการใช้อาวุธสงคราม อย่าง เอ็ม.79 และปืนบาซูกา ซึ่งเป็นปืนยิงรถถัง ยิงเข้าใส่กลุ่มนักศึกษาประชาชน ช่วงวิกฤตที่สุดเป็นช่วงหกโมงเช้าถึงแปดโมงเช้าของวันที่ 6 ช่วงนั้นตำรวจเริ่มขึ้นไปเคลียร์สถานที่บนตึกเรียนในธรรมศาสตร์ นักศึกษาส่วนหนึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ตามห้องต่าง ๆ ในตึก ภาพที่ตำรวจเข้าไปเคลียร์พื้นที่ครั้งนั้น วิโรจน์บอกเล่าว่าราวกับหนังแรมโบ้ มีการถีบประตูและยิงรัวเข้าไปในห้อง ควันปืนตลบไปหมด จากนั้นตำรวจจึงกวาดต้อนนักศึกษาลงมาที่สนามฟุตบอล ทุกคนทั้งหญิงและชายถูกเตะถีบหรือโดนทุบด้วยพานท้ายปืนจนบอบช้ำ ล้มลุกคลุกคลาน มีเสียงตะโกนก้องออกคำสั่งให้นักศึกษาถอดเสื้อออกให้หมด แม้นักศึกษาหญิงก็ถูกบังคับจะให้ถอดกระทั่งเสื้อชั้นใน ช่างภาพผู้นี้รู้สึกอนาถใจจนทนไม่ได้ ต้องตะโกนชี้แจงจนสุดเสียงว่าอย่าทำอย่างนั้น โดยบอกว่าหากภาพนี้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก จะเป็นการประจานประเทศไทยอย่างฉกาจฉกรรจ์ ผลก็คือฝ่ายที่ออกคำสั่ง ตะโกนบอกต่อกันว่า สำหรับนักศึกษาหญิงให้เหลือเสื้อชั้นในไว้ตัวหนึ่ง






"ตัวผมเองแทบจะคุมสติไม่อยู่แล้ว ทำกันเหมือนกับไม่ใช่คน แต่คณะที่ก่อการ เราก็ไม่รู้ว่าคณะไหน ช่วงนั้นยังมองไม่ออก แต่ละคนก็มีความโกรธแค้น เพราะช่วงนั้นเขาก็ได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไป ทั้งข่าวที่ออกทางสถานีวิทยุกระจายเสียงยานเกราะ เพลงหนักแผ่นดิน และมีรูปที่ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพลงหนังสือพิมพ์บางฉบับ ผมคิดว่านักศึกษาเขาชุมนุมกันอย่างสงบ แต่คนที่ไม่สงบสิ คนที่อยู่ข้าง ๆ ผม ขว้างระเบิดกันตูม ๆ ถ้าเขารักษากฎหมาย เขาน่าจะจับพวกนี้มากกว่า อย่างพวกหมาจิ้งจอกที่ไปจิกนักศึกษามาทีละคนแล้วเอามาเผา ผมก็ตามมาดูเขาเผา เห็นคาตา ยังสองจิตสองใจว่าจะเข้าไปข้างใน หรือจะดูพวกที่เขาเผา คนที่ถูกเผาคือนักศึกษา ไม่ใช่ญวน คนที่ถูกแขวนคอ ผมก็เห็น คนที่ถูกลากคอมา กลางสนามก็เห็น ยังไม่ตายดีเลย เอาน้ำมันมาราดจุดไฟเผา ยังดิ้นกระแด่ว ๆ อยู่เลย ผมเห็นหลายศพ คนเข้าไปรุมเหมือนอีแร้ง ผมคำนวณไม่ได้ว่าตายไปเท่าไหร่ มันมากกว่าที่เขาแถลงว่า 43 ศพ ถ้านักศึกษามีปืน พวกที่เข้าไปคงตายไม่น้อย พอหลังจากที่คุมสถานการณ์ได้แล้ว ตำรวจเข้าไปค้นในธรรมศาสตร์ เจออาวุธจนจัดนิทรรศการได้ ผมก็ยังไม่เข้าใจเหมือนกัน ที่ออกข่าวว่ามีอุโมงค์ใต้ดิน ผมเข้าไปดูก็เห็นแต่ท่อน้ำทิ้ง"


เสียงปืนสงบลงประมาณ 10 โมงเช้า ราวบ่ายโมงเศษ ฝ่ายตำรวจก็เข้าเคลียร์พื้นที่ได้หมด มีการกวาดต้อนนักศึกษาขึ้นรถ บ้างถูกอัดถูกทำร้ายอยู่บนรถ เมื่อรถแล่นผ่านกลุ่มผู้รักชาติที่อยู่แถวนั้น ก็ถูกขว้างปาด้วยขวดบ้าง มีคนขึ้นมาชกบ้าง หรือพยายามลากผู้หญิงที่อยู่บนรถลงมา วิโรจน์ขับรถตามไปที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน เขามารู้ทีหลังจากนักข่าวในพื้นที่ว่า ผู้ต้องหาอีกส่วนหนึ่งถูกส่งตัวไปที่ชลบุรีและนครปฐม พวกที่ถูกส่งตัวไปต่างจังหวัดถูกรุมกระทืบทำร้ายหนักกว่าพวกที่อยู่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน เสียอีก มีรถคันหนึ่งพานักศึกษาหญิงล้วน ๆ เต็มคันรถไปที่นครปฐม มีรถของพวกกระทิงแดงตามไป ไม่มีใครรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นหลังจากนั้น เพราะไม่สามารถตรวจสอบข่าวได้ โลกหลังเลนส์ของลูกผู้ชายอย่างเขาคือหยาดน้ำตาและความสะเทือนใจที่ล้ำลึกไม่มีวันลืม


"ผมประเมินความเป็นมนุษย์ของผู้สั่งต่ำไป เขาไม่ใช่มนุษย์แล้วถึงทำอย่างนั้นได้ ภาพเหตุการณ์เหล่านั้นมันติดตา ทุกวันนี้ก็ยังติดตาอยู่ เพราะมันรุนแรงมาก จะว่าสงครามก็ไม่ใช่ เพราะสงครามต้องรบกัน แต่นี่เป็นการฆ่าหมู่ ผมยังรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้เหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวานนี้เอง ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจและรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาน้อยมาก ถ้าเข้าใจจริง ๆ ก็ประมาณสามพันกว่าคนที่ถูกจับ เพราะหลังจากนั้นข่าวถูกบิดเบือนเกือบปี จากขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว แต่คนไทยในต่างประเทศและองค์กรต่าง ๆ ที่ไม่ถูกปิดกั้นข่าวสารก็พอจะรู้ความจริง"


วิโรจน์ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ

"ดูได้จากพวกที่รักชาติ มีคล้ายๆกองกำลัง ทำอะไรต้องมีหัวโจกอยู่ข้างหลัง ให้ไปล้อม ไปจับตรงนั้นตรงนี้ แล้วตำรวจที่อยู่ข้างๆก็ดูมีความเกรงใจ พินอบพิเทา ผมมองว่าเป็นการจัดตั้ง ผมว่ามันแปลก ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก เหมือนผมอยู่ในบ้านแล้วมีคนมาฆ่าพ่อแม่พี่น้องผม แต่กฎหมายมาจับผมไปติดคุก ไปรับข้อหา เราเป็นโจทก์ แต่ให้ไปเป็นจำเลย"


ในฐานะช่างภาพ ภาพที่รุนแรงที่สุดสำหรับเขาคือภาพไหน

"ภาพที่เห็นนักศึกษาถูกตอกอก หลังฉากเป็นวัดพระแก้ว เป็นช่วงที่ผมยกกล้องแทบไม่ขึ้น มันไม่ไหวแล้ว มันแยกไม่ออกระหว่างความเป็นสื่อมวลชนกับความเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่เห็นภาพอย่างนั้น ผมไม่ได้มีพรรคพวกเป็นพวกศูนย์กลางนิสิตฯ เลย ตอนนั้นอายุรุ่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ผมเป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นพ่อคนแล้ว ถ้าตอนนั้นเขาเป็นคนรุ่นลูกผม ผมคงเป็นบ้าไปแล้ว ผมไม่ได้นอนสองวันสองคืน ถ่ายรูปอยู่ในธรรมศาสตร์ แต่พอกลับมาถึงบ้านแล้วนอนไม่หลับ มีเสียงสองอย่างก้องอยู่ในหัว เสียงร้องว่าอย่าทำหนูเลย ทั้งเสียงผู้หญิงผู้ชาย กับอีกเสียงหนึ่งก็ร้องว่าเอามัน ฆ่ามัน ๆ ส่วนเสียงปืนเป็นเสียงประกอบฉากอยู่แล้ว เป็นความรู้สึกที่แย่ที่สุดในชีวิต"






"จำได้ว่าผมถ่ายรูปตำรวจถือปืนมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งคาบบุหรี่ไว้ที่ปาก ผมเห็นเขายิงจนหมดกระสุน ฝ่ายตำรวจยืนยิงอยู่ แต่ทางนิสิตไม่มีอะไรเลย ทางนี้ก็วิ่งกันไปวิ่งกันมา ผมไม่เห็นล้มสักคน ถ้าล้มคงเป็นเพราะเหยียบกันเองมากกว่า ตรงนี้ผมปิดความจริงไม่ได้ ใครถามผมก็เล่า เพราะผมไม่กลัว มันเป็นความจริง ผมเห็นอย่างไรก็บอกอย่างนั้น จะไปบิดเบือนประวัติศาสตร์ได้อย่างไร"


 "เหตุการณ์ครั้งนี้สองวันสองคืนผมถ่ายรูปหมดไป 300 ม้วน ไม่รู้ว่าถ่ายไปได้ยังไง ไม่มีมอเตอร์ไดรฟ์ด้วย มีมอเตอร์ไซค์เอาฟิล์มมาให้ทีละ 50 ม้วน จะมีคนลำเลียงส่งฟิล์มตลอด เท่าที่เห็นช่างภาพหลายคนช็อกและรับไม่ได้ ช่วงนั้นผมอายุยังไม่ 20 ดี เหตุการณ์นี้สำหรับผม ไม่ใช่การล้อมปราบ แต่เป็นการล้อมฆ่า"


ที่มา : นิตยสารสารคดี ปีที่ 12 ฉบับที่ 140 ประจำเดือนตุลาคม 2539 ·
ภาพ : ที่มาตามลายน้ำ และส่วนหนึ่งจากเพื่อนบนเฟสบุ๊ค







วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

เด็กเกรียน - The Kickass Kid

มีเรื่องของลูกเกรียนๆเรื่องนึงมาเล่าให้ฟัง

พ่อ - ระหว่างพ่อกะแม่ลูกชอบใครมากกว่ากัน?
ลูก - ทั้งคู่ฮะ
พ่อ - ไม่สิ เลือกได้แค่คนเดียว
ลูก - ก้ทั้งคู่แหละ
พ่อ - งั้นสมมติพ่อไปอเมริกาแล้วแม่ไปปารีส ลูกจะไปไหน?
ลูก - ไปปารีสฮะ
พ่อ - นั่นไง แปลว่าลูกชอบแม่มากกว่า
ลูก - ป่าวหรอก แค่ปารีสมันสวยกว่าอเมริกาเจ๋ยๆ
พ่อ - งั้นกลับกันถ้าพ่อไปปารีส แล้วแม่ไปอเมริกา ลูกจะไปไหน?
ลูก - ไปอเมริกาฮะ
พ่อ - เอ้า ทำไม?
ลูก - เพราะหนูไปปารีสกะแม่มาแล้วฮะ อิอิ

วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เวลากับความรู้สึก

1


2


3


เวลาของเราถูกปล่อยผ่านไปวินาทีแล้ววินาทีเล่า บางคนใช้มันเพื่อฉกฉวยความสุข แต่บ้างก้เฝ้าดูมันผ่านไปช้าๆโดยไม่คิดจะทำอะไร...

เวลาไม่เคยรอให้ใครนำหน้า,, คำพูดนี้อาจฟังดูเข้าใจยาก แต่มันก้ซ่อนความจริงอะไรบางอย่างที่น่าขนลุก -- เวลาเปนเพียงสิ่งเดียวที่ไม่สามารถไหลย้อนกลับได้ และนี่คือสิ่งที่ก้าวไวกว่าทุกแข้งขาของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด...

คนเราชอบหาเหตุผลสนับสนุนตัวเราเองด้วยข้อจำกัดทางกาลเวลา,, เรานับถือคนที่แก่กว่าเพราะเขาลืมตา 'ก่อน' เรา, นายจ้างบางคนเลือกรับลูกน้องเพราะ 'แก่' ประสบการณ์, การศึกษาบังคับให้ต้องเรียนรู้ภายในกรอบเวลาที่กำหนด และอีกสารพัดที่เราพอจะนึกออก,, เรากำลังมองข้ามอะไรบางอย่างไปหรือไม่?

มันเปนเรื่องจริงที่กาลเวลาก่อให้เกิดความชำนาญและอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง แต่มันก้ไม่ใช่กับทั้งหมด...

คนบางคนสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการล่วงเลยของกาลเวลา,, เด็กน้อยบางคนสามารถอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ก่อนเข้าวัยเรียน ใครบางคนสามารถทำความเข้าใจกับอะไรบางอย่างได้โดยไม่ต้องใช้เวลาเปนตัวแปร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เปนหนึ่งข้อโต้แย้งว่าเวลาไม่สามารถตอบโจทย์อะไรได้ทั้งหมด...

เช่นเดียวกันกับเรื่องความรู้สึก,,

เรามักจะอ้างเวลามาเปนตัวชี้วัดการจะคบใครหรือรู้จักใครสักคนนึง,, รู้จักกันได้ไม่เท่าไหร่จะเปนแฟนกันแล้ว?, มาเร็วระวังไปเร็วนะ..., จะคบจะหากันก้ดูกันนานๆ -- เท่าที่ผมพอจะนึกออกก้ประมาณนี้ และแน่นอนมาถึงบรรทัดนี้หลายคนคงนึกแย้งผมอยู่ในใจ...

มายาคติเรื่องเวลากับความรู้สึกนี่เปนสิ่งที่ปลูกฝังกันมาเนิ่นนาน คนเราจะเชื่อว่าใครสักคนจะใช่และจริงใจกับเราก้ต่อเมื่อเค้าได้พิสูจน์ตัวเองกับเรามาเปน 'เวลา' พอสมควร,, สิ่งเหล่าอาจไม่ใช่เรื่องผิดปกติเสียทีเดียว แต่, ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างขึ้นมาไม่คาดฝัน ทุกสิ่งจะดำเนินต่อไปอย่างไร?

ยกตัวอย่างที่น่าจะพบเห็นได้ไม่ยาก คู่รักที่ลงทุนลงเวลากับการจีบกันไปมากโข ก่อนที่จะมาตกลงปลงใจคบหากัน แต่ไปได้ไม่เท่าไหร่ก้เลิกกันด้วยเหตุผลอะไรก้สุดแล้วแต่ และที่สำคัญยังไม่ทันที่ดูแลกันและกันเท่าที่มันจะคุ้มกับเวลาเลย... คำถามคือเวลาที่เค้าใช้ศึกษากัน(จีบกัน)มันพิสูจน์อะไรบางอย่างจริงหรือ?

การใช้เวลาศึกษาดูใจเปนเครื่องมือหนึ่งในการเฟ้นหาความมั่นคงในชีวิตมนุษย์,, มนุษย์เราเปนสิ่งมีชีวิตรูปแบบที่ต้องการความมั่นคงเหนือสิ่งอื่นใด ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องความรู้สึก...

มุมมองของผมต่อความมั่นคงนั้นคือเรื่องตลกที่ขำไม่ค่อยจะออก,, ตลกที่คนเราใช้ชีวิตทั้งชีวิตตามหามัน แต่สุดท้ายกลับได้ครอบครองมันเพียงช่วงเวลาสั้นๆ สำหรับผมความมั่นคงไม่เคยมีอยู่จริง...

คนเราเกิดมาไม่พ้นต้องจบต้องจากต้องพลัดพรากไม่ด้วยกระบวนการใดก้กระบวนการหนึ่ง ความมั่นคงเหล่านั้นก้ไม่ต่างอะไรกับยาหอมที่โปรยปรายยามที่หัวใจต้องการสายฝนหยดริน,, เราชอบหลอกตัวเองว่าใครสักคนจะอยู่กับเราตลอดไป แม้กายพรากแต่ความทรงจำไม่จากไปไหน... แต่ทำไมเราถึงไม่ใช้ทุกช่วงเวลาที่มีอยู่ ทุกวินาทีที่ล้ำค่านี้ดื่มด่ำกับมันล่ะครับ?

การทำตามสิ่งที่หัวใจดวงน้อยๆของคุณเพรียกหาก้ไม่ได้หมายความว่ามันจะผิดซะหน่อย...
และนั่นคือความคิดของผม.